วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

<  <  กฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว > >

                1. หญิงชายจะทำการหมั้นกันได้เมื่อมีอายครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นจะต้องมีความรับผิดชดใช้ค่าทดแทนกัน
                2. ผู้เยาว์เมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ จะทำการสมรสกันได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
                3. บุคคลจะทำการสมรสกันได้นั้น ต้องไม่เป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือไม่เป็นญาติที่สืบสายโลหิตต่อกัน
                4. บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกัน บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะ เลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ บุตรมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา
                5. บุคคลที่รับบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
                6. บุตรนอกกฎหมายของชายจะมีโอกาสเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ด้วยการจดทะเบียนรับรองบุตร
                7. ทายาทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม ถ้าไม่มีผู้ใดเป็นทายาทรับมรดกของผู้ตาย มรดกนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

                ขณะนี้นักเรียนเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของครอบครัว ในแต่ละครอบครัวก็มีสมาชิก ซึ่งอยู่สถานภาพต่างกัน ได้แก่ สามี ภรรยา บิดา มารด บุตร สมาชิกทุกคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะถูกต้องตามกฎหมาย นักเรียนเป็นบุตรของบิดามารดาก็ต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตนในฐานะของบุตร บิดามารดาก็ต้องรู้สิทธิหน้าที่ของตน ต่อไปในอนาคต
                นักเรียนก็จะต้องมีโอกาสที่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว มีโอกาสที่จะทำการสมรสและเริ่มต้นครอบครัวใหม่ของตนเอง ฉะนั้นจึงควรได้ศึกษากฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว เพื่อเป็นประโยชน์กับตนเองและอาจสามารถแนะนำสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
                ก่อนที่ชายหญิงจะมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ก็อาจจะเริ่มต้นการผูกพันกันด้วยการหมั้นแล้วจึงทำการสมรส หรือบางคู่อาจจะทำการสมรสกันเลยโดยไม่ต้องหมั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามกฎหมาย นักเรียนกำลังอยู่ในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้ ก็ควรจะได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างพอสมควร เมื่อชายหญิงสมรสกันแล้ว และมีบุตรเกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องรู้สิทธิหน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร และบุตรก็ควรรู้สิทธิหน้าที่ของตนต่อบิดามารดา บางคนไม่มีบิดามารดาแต่มีผู้ปกครอง บางคนมีความจำเป็นจะต้องเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรับบุตรบุญธรรม บางคนอาจจะมีบุตรโดยที่ยังไม่ถึงวัยอันควรจะแก้ปัญหาได้อย่างไร และเมื่อตายไปแล้วมรดกจะตกเป็นของใครเหล่านี้เป็นต้น

1. การหมั้น
               
การหมั้น หมายถึง การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสกัน เมื่อเกิดการหมั้นขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาคือไม่ยอมทำการสมรส อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสไม่ได้

                1.1 เงื่อนไขของการหมั้น
                        1) อายุของคู่หมั่น เกณฑ์ของการหมั้น คือชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ เหตุที่กฎหมายกำหนดอายุของชายและหญิงจะที่เป็นคู่หมั้น เพราะการหมั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของชายและหญิง เมื่อจะทำสัญญาหมั้นกัน จึงควรให้ชายหญิงที่จะเป็นคู่หมั้นอยู่ในวัยที่จะเรียนรู้เรื่องการหมั้นได้ตามสมควร กฎหมายถือว่าชายหญิงมีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ไม่อยู่ในวัยที่จะรู้เรื่องการหมั้น การสมรส จึงทำการหมั้นไม่ได้ แม้บิดามารดาหรือผู้ปกครองจะให้ความยินยอมก็ตาม
                        2) ผู้เยาว์จะทำการหมั้นกันได้ต้องได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลต่อไปนี้
                                - บิดามารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา ตัวอย่างเช่น หยาดรุ้งผู้เยาว์อายุ 17 ปี  มีความประสงค์จะหมั้นกับเลิศชายอายุ 21 ปี หยาดรุ้งมีบิดามารดาที่มีชีวิต หยาดรุ้งจะต้องได้รับการยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองคน มิใช่ได้รับความยินยอมจากบิดาเพียงคนเดียว หรือได้รับความยินยอมจากมารดาเพียงคนเดียว แต่ถ้าเลิศชายซึ่งเป็นฝ่ายชายมีอายุเพียง 18 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็นผู้เยาว์ ถึงแม้จะเป็นฝ่ายชายก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาทั้งสองคนเช่นกัน
                                - บิดาหรือมารดา ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งผู้เยาว์ไม่อาจของความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
                   *** กรณีตัวอย่าง แววดาผู้เยาว์อายุ 17 ปี มีความประสงค์จะหมั้นกับเกริกไกร ซึ่งมีอายุ 25 ปี แววดาผู้เยาว์มีมารดาที่มีชีวิตอยู่แต่บิดาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว แววดาจะต้องได้รับความยินยอมจากมารดา หรือถ้าแววดามีแต่บิดาเพราะมารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว แววดาก็ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาแต่เพียงผู้เดียว
                            - ผู้รับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
                            - ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3หรือมี แต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
                   *** กรณีตัวอย่าง วริศราผู้เยาว์อายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีความประสงค์จะหมั้นกับเจษฎาอายุ 20 ปี วริศราไม่บิดามารดาแต่มีผู้ปกครองคืนนายโอภาส วริศราจะต้องได้รับความยินยอมจากนายโอภาจึงจะทำการหมั้นได้ หรือถ้าวริศราผู้เยาว์มีบิดาเพียงคนเดียว แต่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองโดยศาล เธออยู่ในความปกครองของนายโอภาสก็จะต้องได้รับความยินยอมจากนายโอภาสแต่เพียงผู้เดียว  บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีอำนาจทำการหมั้นได้โดยตามลำพังตนเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือรับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง เฉพาะแต่ผู้เยาว์เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอม การให้ความยินยอมในการหมั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบพิธีไว้ ฉะนั้นบิดามารดา หรือรับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองจึงอาจให้ความยินยอม  โดยวิธีหนึ่งวิธีใด คือด้วยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษรก็ได้
                1.2 ของหมั้นและสินสอดของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและเป็นประกันว่าจะทำการสมรสกับหญิง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงสินสอด คือ ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรส  โดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
                  *** กรณีตัวอย่าง นายฟ้าได้หมั้นกับนางสาวเหลือง โดยนายฟ้ามอบแหวนเพชรราคา 50,000 บาทแก่นางสาวเหลืองเป็นของหมั้น แหวนหมั้นจะตกเป็นของนางสาวเหลืองทันที นายฟ้าได้มอบเงินสดจำนวน 100,000 บาทให้แก่บิดามารดาของนางสาวเหลืองเป็นสินสอด เงินสินสอดจำนวนนี้ยังไม่ได้ตกเป็นสิทธิของบิดามารดาของนางสาวเหลือง จนกว่านางสาวเหลืองจะได้ทำการสมรสกับนายฟ้า แต่ถ้านางสาวเหลืองไปยุ่งเกี่ยวฉันชู้สาวกับชายอื่น ทำให้นายฟ้าไม่อาจสมรสกับนางสาวเหลืองได้ นายฟ้าสามารถเรียกสินสอดคืนได้
                1.3 ผลของการหมั้น  เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ยหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
              ***  กรณีตัวอย่าง นายหมึกหมั้นกับนางสาวปลา กำหนดในสมรสเรียบร้อยแล้ว นางสาวปลาได้จัดซื้อเครื่องเรือน ที่นอน หมอน มุ้ง เพื่อเตรียมการสมรสคิดเป็นเงิน 10,000 บาท แต่นายหมึกผิดสัญญาไม่ยอมสมรสกับนางสาวปลา ดังนั้นนางสาวปลามีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ได้จ่ายไปเนื่องในการเตรียมการสมรสได้ แต่จะฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายหมึกให้ทำการสมรสกับนางสาวปลาไม่ได้
              ***  กรณีตัวอย่าง นายน้ำเงินได้หมั้นกับนางสาวชมพู นายน้ำเงินได้มอบแหวนเพชร 1 วง ราคา 50,000 บาทและรถยนต์ 1 คน ราคา 500,000 บาท ให้แก่นางสาวชมพูเป็นของหมั้น ทั้งกำหนดวันสมรสเรียบร้อยแล้ว นายน้ำเงินได้พิมพ์บัตรเชิญแขกมาในงานสมรสและซื้อเครื่องใช้เพื่อเตรียมการสมรส แต่นางสาวชมพูผิดสัญญาไม่ยอมสมรสกับนายน้ำเงิน ดังนั้นนางสาวชมพูจะต้องคืนแหวนหมั้นและรถยนต์ให้แก่นายน้ำเงิน และนายน้ำเงินมีสิทธิเรียกค่าทดแทนที่ได้จ่ายไปในการเตรียมการสมรส ถ้าตกลงกันไม่ได้ต้องให้ศาลตัดสิน เรื่องค่าทดแทนนั้นก็ขึ้นอยู่กับศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
                1.4 การเลิกสัญญาหมั้น    การเลิกสัญญาหมั้นด้วยความยินยอมทั้งสองฝ่าย ย่อมทำได้โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือมีพยานลงลายมือชื่อ เมื่อเลิกสัญญากันแล้วก็กลับคืนสู่ฐานะเดิม ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้น และถ้ามีสินสอดก็ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชายด้วยการเลิกสัญญาหมั้นด้วยเหตุที่คู่หมั้นตาย คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกเอาค่าทดแทนกันไม่ได้    สำหรับของหมั้นหรือสินสอดนั้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตาย ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย
              ***  กรณีตัวอย่าง ยุทธนากับทิพย์รักใคร่ชอบพอกัน ยุทธนาได้นำแหวนเพชร 1 วงหมั้นทิพย์ และทิพย์ก็รับหมั้นด้วยความเต็มใจ ถือว่าทั้งสองมีสัญญาหมั้นกันแล้ว ต่อมาคนทั้งสองมีเรื่องบาดหมางใจกันจึงตกลงเลิกสัญญาหมั้นต่อกัน ดังนั้นทิพย์ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงจะต้องคืนแหวนเพชรซึ่งเป็นของหมั้นให้แก่ยุทธนา
                จากกรณีตัวอย่างข้างต้น ถ้าสมมติว่าทั้งยุทธนาและทิพย์หมั้นกันแล้วและไม่ได้บาดหมางใจกัน ยังเป็นคู่หมั้นที่รักกันเหมือนเดิม แต่ต่อมาทิพย์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทางฝ่ายทิพย์ไม่ต้องคืนแหวนหมั้นให้แก่ยุทธนา หรือถ้ายุทธนาเสียชีวิตทิพย์ก็ไม่ต้องคืนแหวนหมั้น
                ในกรณีที่ยุทธนาเสียชีวิต ทิพย์จะเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายยุทธนาโดยอ้างว่าได้ซื้อเครื่องเรือน เพื่อเตรียมการสมรสเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทไม่ได้ หรือในทางตรงกันข้าม  ถ้าทิพย์เสียชีวิต ยุทธนาจะเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายทิพย์ย่อมไม่ได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น