วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 


กฎหมายแพ่ง คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เช่น เรื่องสภาพบุคคล ทรัพย์ หนี้ นิติกรรม ครอบครัว และมรดก เป็นต้น การกระทำผิดทางแพ่ง ถือว่าเป็นการละเมิดต่อบุคคลที่เสียหายโดยเฉพาะไม่ทำให้ประชาชนทั่วไปเดือด ร้อนอย่างการกระทำผิดอาญา

กฎหมายพาณิชย์ คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเศรษฐกิจและการค้า โดยวางระเบียบเกี่ยวพันทางการค้าหรือธุรกิจระหว่างบุคคล เช่น การตั้งหุ้นส่วนบริษัท การประกอบการรับขน และเรื่องเกี่ยวกับตั๋วเงิน (เช่น เช็ค) กฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย การเช่าทรัพย์ การจำนอง การจำนำ เป็นต้น
สรุปหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หลักทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิและการใช้สิทธิ
 
1.ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต (มาตรา 5)
2. ถ้ามิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี (มาตรา 7)
3. ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี ทำลงในเอกสาร ถ้าไม่ได้ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนแล้ว เสมอกับลงลายมือชื่อ (มาตรา 9)
4. การลงจำนวนเงินในเอกสารด้วยตัวอักษรและตัวเลข ถ้าไม่ตรงกันและมิอาจทราบเจตนาที่แท้จริงได้ ให้ใช้จำนวนเงินที่เขียนเป็นตัวอักษรเป็นประมาณ ถ้าไม่ตรงกันหลายแห่ง ให้เอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ (มาตรา 12 , 13 )
5. ถ้าเอกสารทำไว้สองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่งด้วย หากมีความแตกต่างกันและไม่อาจทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใด บังคับ ให้ใช้ภาษาไทยบังคับ (มาตรา 14)
บุคคล
☺ บุคคลธรรมดา
สภาพบุคคล ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอด การคลอดนั้นหมายถึง การที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดาหมดทั้งตัวแล้ว แม้จะยังไม่ตัดสายสะดือ และต้องรอดอยู่ด้วย แม้เพียงชั่วระยะเวลานิดเดียวก็มีสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สินย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ปฏิสนธิในครรภ์มารดก เช่น อาจรับมรดกของบิดาซึ่งตายก่อนเด็กคลอดได้ เป็นต้น (มาตรา 15)
ภูมิลำเนาของบุคคล มีหลักตามกฎหมายดังนี้
1. ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งสำคัญ (ม.37)
2. ถ้าบุคคลมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกัน หรือมีแหล่งที่ทำมาหากินเป็นปกติหลายแห่ง ก็ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น (ม. 38)
3. ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา (ม.39)
4. ถ้าไม่มีถิ่นที่อยู่เป็นปกติ หรือไม่มีที่ทำการงานเป็นหลักแหล่ง ถ้าพบตัวในถิ่นไหนก็ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา (ม. 40)
5. บุคคลอาจแสดงเจตนากำหนดภูมิลำเนา ณ ถิ่นใดเพื่อกระทำการใด ก็ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการนั้น (ม. 42)
6. ภูมิลำเนาของบุคคลบางประเภท เช่น ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ กฎหมายให้ใช้ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมหรือของผู้อนุบาล (ม.44,45)
7. ข้าราชการ ภูมิลำเนาได้แก่ถิ่นที่ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่อยู่ประจำ ถ้าเป็นเพียงแต่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการชั่วคราวไม่ถือว่าที่นั้นเป็น ภูมิลำเนา (ม. 46)
8. ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ภูมิลำเนาได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว (ม. 47)
*** การเปลี่ยนภูมิลำเนากระทำได้โดยการแสดงเจตนาว่าจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาและย้ายถิ่นที่อยู่ (ม. 41)
ความสามารถของบุคคล 
1. ผู้เยาว์  บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ม. 19)
      ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย(ม.20)
 สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17ปีบริบูรณ์ หรือ เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรส (ม. 1448) จำไว้ว่า “บรรลุแล้วบรรลุเลย”
ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” ก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นๆ เป็นโมฆียะ คืออาจถูกบอกล้างได้ในภายหลัง (ม.21)
ผู้เยาว์อาจทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้เอง โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือ
1. ทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ (ม.25)
2. นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว (ม. 22) เช่น รับการให้โดยไม่มีข้อผูกพัน
3. นิติกรรมที่ต้องทำเองเฉพาะตัว (ม. 23) เช่น การรับรองบุตร กรณีตาม มาตรา 1548
4. นิติกรรมที่สมควรแก่ฐานานุรูป และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามควร (ม.24)
5. เมื่อผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมให้ประกอบการค้า (ม.27)
2. คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ (ม. 28) และจัดให้อยู่ในความอนุบาล นิติกรรมที่คนไร้ความสามรถกระทำลงย่อมตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น แม้จะได้รับความยินยอมจาก “ผู้อนุบาล” ก็ไม่ได้
(ม. 29)
ส่วนคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากไปทำนิติกรรม ย่อมต้องถือว่ามีผลสมบูรณ์ เว้นแต่ว่า ได้กระทำในขณะจริตวิกล + คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้ว นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆียะ (ม.30)
3. คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลที่ปรากฏว่า ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ เพราะมีกายพิการ จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ แต่ไม่ถึงขนาดวิกลจริต ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมา เมื่อคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยให้อยู่ใน “ความพิทักษ์” ก็ได้ (ม. 32)
การสิ้นสภาพบุคคล
1. ตาย (ม.15)
2. สาบสูญ (โดยผลของกฎหมาย) ได้แก่
2.1 บุคคลไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรตลอดระยะเวลา 5 ปี (ม.61 วรรคแรก)
2.2 บุคคลไปทำการรบหรือสงคราม หรือตกไปอยู่ในเรือเมื่ออับปราง หรือตกไปในฐานะที่จะเป็นภยันตรายแก่ชีวิตประการอื่นใด หากนับแต่เมื่อภยันตรายประการอื่นๆ ได้ผ่านพ้นไปแล้วนับได้เวลาถึง 2 ปี ยังไม่มีใครทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร (ม.61 วรรคสอง)
☺ นิติบุคคล เกิดขึ้นตามกฎหมาย เช่น
1. ทบวงการเมือง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาล เทศบาลและสุขาภิบาลทั้งหลาย กรมตำรวจ กองทัพบก/เรือ/อากาศ แต่กรมในกองทัพนั้นไม่เป็นนิติบุคคล
2. วัดวาอาราม เฉพาะวัดในพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่าเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ส่วนถ้าเป็นมัสยิดหรือวัดของศาสนาคริสต์ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงจะเป็นเจ้าของที่ดินได้
3. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว / บริษัทจำกัด / สมาคม และมูลนิธิ ส่วนสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้ามาประกอบการในประเทศไทยก็เป็น นิติบุคคลเช่นเดียวกับนิติบุคคลในประเทศนั้น แม้นิติบุคคลในต่างประเทศนั้นจะมิได้มาจดทะเบียนในประเทศไทยก็ตาม เมื่อนิติบุคคลดังกล่าวได้เป็นนิติบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศนั้นๆแล้ว
ทรัพย์
☺ ความหมาย
“ทรัพย์” หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง (ม.137)
“ทรัพย์สิน” หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ (ม. 138)
☺ ประเภทของทรัพย์
1.อสังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น
1.1 ที่ดิน หมายถึง พื้นแผ่นดิน รวมตลอดถึง ภูเขา เกาะ และที่ชายทะเลด้วย
1.2 ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร
1.3 ทรัพย์ซึ่งประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
1.4 สิทธิอันเกี่ยวกับ 1.1, 1.2 และ 1.3 อันได้แก่ สิทธิในกรรมสิทธิ์ (ม.1336), สิทธิครอบครอง (ม.1367), สิทธิจำนอง, สิทธิเก็บกิน (ม.1417) ภาระจำยอม (ม.1387) เป็นต้น
2. สังหาริมทรัพย์ ได้แก่
2.1 ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์
2.2 สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ เช่น สิทธิจำนอง สิทธิยึดหน่วง เป็นต้น
3. ทรัพย์แบ่งได้ (ม.141) ได้แก่ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้ โดยยังคงสภาพเดิมอยู่
4. ทรัพย์แบ่งไม่ได้ (ม.142) ได้แก่
4.1 ทรัพย์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสภาพ เช่น บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
4.2 ทรัพย์ที่กฎหมายถือว่าแบ่งไม่ได้ เช่น หุ้นของบริษัท ส่วนควบของทรัพย์ เป็นต้น
5. ทรัพย์นอกพาณิชย์ (ม.143) ได้แก่
5.1 ทรัพย์ที่ไม่อาจถือเอาได้ เช่น ก้อนเมฆ ดวงอาทิตย์ เป็นต้น
5.2 ทรัพย์ที่ไม่อาจโอนกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ที่ดินธรณีสงฆ์ ยาเสพติด เป็นต้น
☺ ส่วนประกอบของทรัพย์
1. ส่วนควบ (ม.144) ได้แก่ ส่วนซึ่งว่าโดยสภาพแห่งทรัพย์ หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจจะแยกจากกันได้ นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป ข้อยกเว้นในเรื่องส่วนควบมีดังนี้ (ม.145, 146)
1.1 ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ
1.2 ทรัพย์อันติดกับที่ดิน หรือโรงเรือนชั่วคราว
1.3 โรงเรือนหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้สิทธิปลูกทำลงไว้
2. อุปกรณ์ (ม.147) ได้แก่ สิ่งที่ใช้บำรุงดูแลรักษาทรัพย์ประธาน และสามารถแยกออกจากทรัพย์ประธานได้โดยไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงรูปทรง ต่างจากการเป็นส่วนควบ
3. ดอกผล คือ ผลประโยชน์ที่ได้งอกเงยจากทรัพย์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเองโดยสม่ำเสมอ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (ม.148)
3.1 ดอกผลธรรมดา คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์ โดยการมีหรือใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม เช่น ผลไม้ น้ำนม ขนสัตว์ และลูกของสัตว์ เป็นต้น
3.2 ดอกผลนิตินัย ซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เช่น ดอกเบี้ย กำไร ค่าเช่า ค่าปันผล ฯ